ทนายภูวงษ์ โพธิ์ไทร ประธานเครือข่ายทนายความ

ทนายภูวงษ์ โพธิ์ไทร ประธานเครือข่ายทนายความ

เปิดหน้าต่อไป

การปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว)

ประกันตัวชั้นพนักงานสอบสวน

ประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือต้องหา (ชั้นพนักงานตำรวจ)

                                           การประกันตัวผู้ต้องหา

1. หลักปฏิบัติ
2. การใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน
3. การพิจารณาการให้ประกันตัวผู้ต้องหา


1. หลักปฏิบัติ
          (1) ให้ผู้ที่มาขอประกันตัวผู้ต้องหา ยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของคดีหรือไม่ก็ตาม
          (2) หากไม่อาจเขียนคำร้องประกันได้เองให้ร้องขอต่อพนักงานสอบสวน เพื่อสั่งเจ้าหน้าที่ช่วยเขียนคำร้องให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
          (3) เมื่อรับคำร้องแล้ว ให้ขอหลักฐานการับสัญญาประกันที่ลงเวลารับคำร้องไว้ด้วย
          (4) พนักงานสอบสวนจะแจ้งผลการสั่งคำร้องให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับคำร้อง
          (5) หากไม่ได้รับความสะดวกหรือล่าช้าให้รีบเข้าพบหรือแจ้งต่อสารวัตร สารวัตรหัวหน้างานคนใดคนหนึ่ง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจนั้นให้ทราบทันที

          การประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ควรมีหลักฐาน
          (1) บัตรประจำตัวประชาชน
          (2) หลักทรัพย์ที่จะใช้เป็นหลักประกัน ได้แก่
                    2.1 เงินสด
                    2.2 โฉนดที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินราคาแล้ว หรือพนักงานสอบสวนเชื่อว่าที่ดินมีราคาไม่น้อยกว่าสองเท่าของจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาประกัน
                    2.3 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินราคาแล้วหรือพนักงานสอบสวนเชื่อว่าที่ดินมีราคาไม่น้อยกว่าสองเท่าของจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาประกัน

                    2.4 พันธบัตรรัฐบาล
                    2.5 สลากออมสินหรือสมุดฝากเงินธนาคารประเภทฝากประจำ
                    2.6 ใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร
                    2.7 ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว
                    2.8 ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว
                    2.9 เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรอง
                    2.10 หนังสือรับรองของธนาคารเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีที่ผิดสัญญาประกัน
                    ในกรณีที่ผู้ยื่นขอประกันมีครอบครัวแล้ว จะต้อง ทำหนังสือแสดงการอนุญาตจากสามีหรือภรรยาแล้วแต่กรณีไปด้วย

2. การใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน

ตามคำสั่ง ตร.ที่ 80/2551 เรื่อง การกำหนดวงเงินประกันการกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกัน และการใช้บุคคลเป็นประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวน ได้กำหนดการใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว ดังนี้

ผู้ขอประกัน

วงเงินสัญญาประกัน

1.ผู้ขอประกันเป็นบุคคลธรรมดา
1.1 ผู้ขอประกันต้องเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน และ

1.2 เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหา หรือ

1.3 เป็นบุคคลที่เห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เสมือนเป็นญาติพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่เห็นสมควรให้ประกันได้

ให้พิจารณาจากเงินเดือน หรือรายได้ โดยให้ทำสัญญาไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

2. ผู้ขอประกันเป็นนิติบุคคล
กรณีผู้ต้องหาเป็นกรรมการ ผู้แทน ตัวแทน หุ้นส่วน พนักงาน ลูกจ้าง ของนิติบุคคล

ตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีๆไป

3. ผู้ขอประกันเป็นส่วนราชการ

ตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีๆไป

4. ผู้ต้องหาทำสัญญาประกันตนเอง
4.1 ผู้ต้องหาต้องเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน

4.2 ผู้ต้องหาเป็นพนักงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ผู้สอบบัญชี ครู ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อมวลชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่เห็นสมควรให้ประกันได้และการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพนั้น

ให้พิจารณาจากเงินเดือน หรือรายได้ โดยให้ทำสัญญาไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ย

ให้พิจารณาจากเงินเดือน หรือรายได้โดยให้ทำสัญญาไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

 

การใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 และมาตรา 114 วรรคสองวางหลักเกณฑ์เป็นแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

บุคคล/ผู้ขอประกัน

วงเงินสัญญาประกัน

(ก)          ข้าราชการพลเรือนระดับ 3 ถึง 5 หรือ
ข้าราชการอื่นที่เทียบเท่า

(ข)           ข้าราชการทหารหรือตำรวจที่มียศตั้งแต่ ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี หรือร้อยตำรวจตรี ถึงพันตรี นาวาตรี นาวาอากาศตรี หรือพันตำรวจตรี

(ค)          ข้าราชการบำนาญตั้งแต่ระดับ 6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป

(ง)           พนักงานรัฐวิสาหกิจในระดับเดียวกับข้าราชการประจำ

(จ)          สมาชิกสภาจังหวัด

(ฉ)          สมาชิกสภาเทศบาล

(ช)          สมาชิกสภาเมืองพัทยา

(ซ)          สมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานค

(ฌ)        กรรมการสุขาภิบาล

(ญ)        กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกิน 60,000 บาท

(ก)          ข้าราชการพลเรือนระดับ 6 ถึง 8 หรือข้าราชการอื่นเทียบเท่า

(ข)           ข้าราชการทหารหรือตำรวจที่มียศตั้งแต่ พันโท นาวาโท นาวาอากาศโทร หรือพันตำรวจโท พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตำรวจเอก

(ค)          ข้าราชการตุลาการ หรือข้าราชการอัยการตั้งแต่ชั้น 1 ถึง 2

(ง)           พนักงานรัฐวิสาหกิจในระดับเดียวกับข้าราชการประจำ

ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท

(ก)          ข้าราชการพลเรือนระดับ 9 ถึง 10 หรือข้าราชการอื่นเทียบเท่า

(ข)           ข้าราชการทหารหรือตำรวจที่มียศตั้งแต่ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตำรวจเอกที่ได้รับอัตราเงินเดือนพันเอก (พิเศษ) นาวาเอก (พิเศษ) นาวาอากาศเอก (พิเศษ) หรือพันตำรวจเอก (พิเศษ) ถึงพลเรือตรี พลอากาศตรี หรือพลตำรวจตรี

(ค)          ข้าราชการตุลาการ หรือข้าราชการอัยการตั้งแต่ชั้น 3 ถึง 4

(ง)           พนักงานรัฐวิสาหกิจในระดับเดียวกับข้าราชการประจำ

ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท

(ก)          ข้าราชการพลเรือนระดับ 11 หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่า

(ข)           ข้าราชการทหารหรือตำรวจที่มียศตั้งแต่พลโท พลเรือโท พลอากาศโท หรือพลตำรวจโท

(ค)          ข้าราชการตุลาการ หรือข้าราชการอัยการตั้งแต่ชั้น 5 ขึ้นไป

(ง)           พนักงานรัฐวิสาหกิจในระดับเดียวกับข้าราชการประจำ

(จ)          สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการการเมืองหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท

 

3. การพิจารณาการให้ประกันตัวผู้ต้องหา
          (1) การพิจารณาการให้ประกันตัวผู้ต้องหา เป็นดุลยพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะให้ประกันหรือไม่ให้ประกันก็ได้ โดยจะพิจารณาถึง

          (ก) ความหนักเบาแห่งข้อหา
          (ข) พยานหลักฐานที่สอบสวนไปแล้วมีเพียงใด
          (ค) พฤติการณ์ต่างๆแห่งคดีเป็นอย่างใด
          (ง) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
          (จ) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยตัวชั่วคราวมีเพียงใด หรือไม่ ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนีหรือไม่

          (2) หากเจ้าพนักงานตำรวจพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวไปได้ก็จะนำสัญญาประกันลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และยึดหลักทรัพย์หรือเงินเท่าที่ท่านยื่นประกันไว้โดยออกใบสำคัญแสดงการรับไว้ให้ด้วย แล้วผู้ต้องหาจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป
          (3) หากเจ้าพนักงานตำรวจไม่อนุญาตให้ประกัน อันสืบเนื่องจากเหตุในข้อ (1) ก็จะแจ้งให้นายประกันทราบและคืนหลักทรัพย์หรือเงินที่ท่านยื่นประกันไว้

การปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัวชั้นศาล)

การปล่อยชั่วคราว
ผู้มีสิทธิขอปล่อยชั่วคราว
หลักประกันที่ใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราว
ขั้นตอนการขอปล่อยชั่วคราวในชั้นศาล
หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
สัญญาประกันสิ้นสุดเมื่อใด
หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกัน
สิทธิของผู้ประกัน
ทำอย่างไรเมื่อ “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทำผิดซ้ำระหว่างประกันตัว”
เมื่อไม่อยากเป็น “ผู้ประกัน” อีกต่อไป


การปล่อยชั่วคราว
          การปล่อยชั่วคราว หรือที่มักเรียกกันว่า การประกันตัว หมายถึง การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยคำสั่งของพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการหรือศาล แล้วแต่กรณี เพื่อให้พันจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาลในระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาคดีพิพากษาคดีของศาลตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจปล่อยชั่วคราวไปโดยมีประกันหรือไม่มีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้

ผู้มีสิทธิขอปล่อยชั่วคราว
          ผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือผู้มีสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับผู้ต้องหาหรือจำเลย ได้แก่บุพการี สามี/ภริยา ญาติพี่น้อง ผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง ทนายความ บุคคลที่ศาล/พนักงานอัยการ/พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนญาติพี่น้องหรือความสัมพันธ์อื่นตามที่ศาลเห็นสมควร

หลักประกันที่ใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราว
1. เงินสด
2. พันธบัตรรัฐบาล
3. สลากออมสิน สลากออมทรัพย์ พร้อมหนังสือรับรอง
4. สมุดเงินฝากประจำธนาคาร หรือใบรับฝากเงินประจำของธนาคารพร้อมหนังสือรับรองยอดเงิน   คงเหลือ และรับรองว่าธนาคารจะไม่ยอมให้ถอนเงินจนกว่าจะได้รับคำสั่งจากศาล

5. หนังสือค้ำประกันของธนาคาร
6. หนังสือรับรองจากส่วนราชการค้ำประกันตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา

7. หนังสือรับรองกรมธรรม์ประกันอิสรภาพพร้อมแสดงตารางกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ
8. ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ อาทิเช่น โฉนดที่ดิน, น.ส.3, น.ส.3ก, ห้องชุด พร้อมหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินหรือห้องชุดที่ออกให้ไม่เกิน 1 เดือน แผนที่แสดงที่ตั้งที่ดิน ระวางที่ดินหรือแบบ รว.9, รว. 25 ภาพถ่ายที่ดินหรือห้องชุด

9. ตำแหน่งบุคคลเป็นประกัน (ตำแหน่งข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งผู้ประกอบวิชาชีพ) โดยต้องแสดงหนังสือรับรองตำแหน่งและเงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือนที่ออกให้ไม่เกิน 1 เดือน ใช้ประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือน แต่กรณีที่ใช้ประกันตนเองในฐานความผิดซึ่งเกิดจากปฏิบัติหน้าที่ ให้ปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพ ให้ประกันได้ไม่เกิน 15 เท่าของเงินเดือนผู้ประกันต้องมีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือเป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ต้องหาหรือจำเลย (ในคดียาเสพติดให้โทษใช้ตำแหน่งเป็นประกันได้เฉพาะแต่บุคลลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็น บิดา มารดา คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานเท่านั้น)

10. ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรองตลอดไป เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองและสามารถเรียกเก็บเงินได้ภายในวันทำสัญญาประกัน

11. หลักประกันเดิมที่วางไว้เป็นประกันต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสามารถนำมาประกันได้แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ว่าได้วางหลักประกันไว้จริงและจะส่งมายังศาลพร้อมกับสำเนาสัญญาประกันและเอกสารเกี่ยวกับหลักประกันนั้น



ขั้นตอนการขอปล่อยชั่วคราวในชั้นศาล
          1. เขียนคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยขอแบบพิมพ์คำร้องขอได้จากเจ้าหน้าที่ของศาล และให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยลงชื่อในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหากไม่เข้าใจสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์ได้
          2. ผู้ประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพร้อมหลักฐานฐานต่างๆ
          3. เจ้าพนักงานศาลจำตรวจสอบคำร้องและหลักฐาน ลงบัญชีรับเรื่องไว้เป็นหลักฐาน แล้วนำเสนอคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาสั่งคำร้อง
          4. หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันผู้ประกันอาจต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบหลักฐานการขอประกันและใบรับเงินได้

          5. เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกปล่อยตัวในวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
          6. หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เจ้าหน้าที่จะคืนหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ขอประกัน

หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ได้บัญญัติให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจให้การอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่างๆดังนี้
(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา
(2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
(3) พฤติการณ์แห่งคดีเป็นอย่างไร
(4) เชื่อถือผู้ขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการอนุญาตให้ประกันตัวมีเพียงใดหรือไม่
(7) คำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการโจทก์หรือผู้เสียหายแล้วแต่กรณี
(8) ข้อเท็จจริงหรือรายงานหรือความเห็นของพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้น
หมายเหตุ
          ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนศาลจะพิจารณาความประพฤติภูมิหลัง สิ่งแวดล้อมและผู้ปกครองในการดูแลเด็กประกอบด้วย
          ในกรณีที่เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสถานพินิจฯ ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจทบทวนคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของผู้อำนวยการสถานพินิจฯ คำสั่งศาลเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด แต่ไม่ตัดสิทธิในการยื่นประกันตัวใหม่

กรณีศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
          ผู้ยื่นคำร้องของประกันมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ดังนี้
1. คำสั่งของศาลชั้นต้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์
2. คำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา
3. คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยื่นตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวใหม่

 
สัญญาประกันสิ้นสุดเมื่อใด
1. ผู้ประกันนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งต่อศาล
2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยตายก่อนผิดสัญญาประกัน
3. ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา เมื่อศาลไม่อนุญาตให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการฝากขังผู้ต้องหาหรือครบกำหนดฝากขังแล้วพนักงานอัยการไม่ยื่นฟ้องต่อศาลหรือพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหานั้น
4. เมื่อศาลมีคำพิพากษา และผู้ประกันไม่ประสงค์จะขอปล่อยชั่วคราวจำเลยอีกในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา
5. ศาลอนุญาตให้เปลี่ยนหลักประกัน
6. ผู้ต้องหาหรือจำเลยตายก่อนผิดสัญญาประกัน

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกัน
1. ต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด หรือตามหมายเรียกของศาล
2. หากผู้ต้องหาหรือจำเลยมีเหตุจำเป็นไม่สามารถมาศาลตามกำหนดนัดหรือตามหมายเรียกได้ จะต้องมาแถลงต่อศาลพร้อมแสดงหลักฐานแสดงเหตุที่อ้างนั้น
3. เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ผู้ขอประกันจะต้องรับผิดชำระค่าปรับตามสัญญาประกันต่อศาล หากไม่ชำระค่าปรับจะถูกบังคับเอาจากหลักประกันนั้น หากบังคับไม่ได้พอชำระค่าปรับ ก็ยังถูกบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นๆจนครบค่าปรับตามสัญญาประกัน
4. จะต้องให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานหรือศาลตามความเป็นจริงและจะต้องยื่นเอกสารต่างๆต่อศาล ให้ถูกต้องครบถ้วน หากให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือยื่นเอกสารอันมีข้อความอันเป็นเท็จหรือเอกสารปลอม จะมีความผิดทางอาญาและถือว่าประพฤติตัวไม่เรียบร้อยให้บริเวณศาล ซึ่งมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สิทธิของผู้ประกัน
          1. ยกเลิกการเป็นผู้ประกันโดยนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งคืนต่อศาล
          2. นำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งคืนต่อศาล เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี
          3. จับกุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งคืนต่อศาล เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี้ หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุอันตรายอื่น
          4. ของดหรือลดค่าปรับเมื่อนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีมาส่งคืนศาล

ทำอย่างไรเมื่อ “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทำผิดซ้ำระหว่างประกันตัว”
          ผู้ประกันยังคงมีหน้าที่ในการนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งศาลในคดีที่ตนเป็นประกัน ตามกำหนดนัด แต่หากผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวในคดีอื่น ผู้ประกันอาจยื่นคำร้องแถลงให้ศาลทราบเพื่อเบิกตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาสอบถามว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่หากใช่และผู้ประกันประสงค์ที่จะถอนประกันก็สามารถทำได้ หลังจากที่มีการสอบถามแล้ว
          เมื่อถึงกำหนดพาผู้ต้องหาหรือจำเลยมารายงานตัวต่อศาล แต่ผู้ประกันไม่สามารถมาศาลด้วยตนเอง แต่ผู้ประกันไม่สามารถมาศาลด้วยตนเอง ก็สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นส่งแทนได้ เพราะการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลแต่ผู้ขอประกันไม่มาศาล ไม่ถือว่าผิดสัญญาประกันแต่ถือว่าผู้ขอประกันทราบคำสั่งของศาลและวันนัดส่งตัวคราวต่อไปแล้ว

เมื่อไม่อยากเป็น “ผู้ประกัน” อีกต่อไป
ผู้ขอประกันอาจถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกันต่อศาลได้เสมอโดยต้องส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อศาล เมื่อศาลอนุญาตความรับผิดชอบตามสัญญาประกันเป็นอันสิ้นสุดลง        

ขอคืนหลักประกัน
          เมื่อคดีถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนประกันหรือสัญญาประกันสิ้นสุดลงด้วยเหตุความผิดตามสัญญาประกันสิ้นสุดลงด้วยเหตุความรับผิดตามสัญญาประกันสิ้นสุดลง ผู้ขอประกันสามารถขอรับหลักประกันคืนได้ทันที โดยยื่นคำร้องต่อศาลและแนบหลักฐานคือ ใบรับหลักฐานและใบรับเงินที่ศาลออกให้เมื่อครั้งยื่นขอประกันตัว หากใบรับหลักฐานหรือใบรับเงินสูญหายต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำใบรับแจ้งความมาแสดงต่อศาล โดยปกติแล้ว ผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง หากไม่สามารถมารับได้ด้วยตนเอง สามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นมารับหลักทรัพย์หรือเงินสดแทนได้ โดยใบมอบฉันทะขอได้ที่เจ้าหน้าที่ของศาล

ข้อมูลนี้นำมาจากคู่มือการปล่อยชั่วคราวและการบังคับคดีผู้ประกันฉบับประชาชน ศาลยุติธรรม



การตั้งค่าคุกกี้
X
ไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ในการท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้น
คุณสามารถยอมรับคุกกี้ทั้งหมดหรือเลือกประเภทของคุกกี้ที่คุณยินดีอนุญาต
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
เลือกคุกกี้ที่คุณต้องการอนุญาตในขณะที่คุณเรียกดูเว็บไซต์นี้ โปรดทราบว่าคุกกี้บางตัวไม่สามารถปิดได้ เนื่องจากหากไม่มีคุกกี้ เว็บไซต์จะไม่ทำงาน
ความสำคัญ
เพื่อป้องกันสแปม ไซต์นี้ใช้ Google Recaptcha ในแบบฟอร์มการติดต่อ

ไซต์นี้อาจใช้คุกกี้สำหรับอีคอมเมิร์ซและระบบการชำระเงินซึ่งจำเป็นสำหรับเว็บไซต์เพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง
บริการของ Google
ไซต์นี้ใช้คุกกี้จาก Google เพื่อเข้าถึงข้อมูล เช่น หน้าที่คุณเยี่ยมชมและที่อยู่ IP ของคุณ บริการของ Google บนเว็บไซต์นี้อาจรวมถึง:

- Google Maps
- Google Font
ข้อมูล
ไซต์นี้อาจใช้คุกกี้เพื่อบันทึกพฤติกรรมของผู้เข้าชม ติดตามการแปลงโฆษณา และสร้างผู้ชม รวมถึงจาก:

- Google Analytics
- เครื่องมือวัด Conversion ของ Google Ads
- Facebook (Meta Pixel)