กฎหมายแก้ไขใหม่และคำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ
กฎหมายหมายแก้ไขใหม่
- ขายฝาก แก้ไขใหม่ ปี 2562
- ดอกเบี้ย แก้ไขใหม่ เมษายน ปี 2564
คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ (อาญา)
- เรื่อง ลักทรัพย์ มีอายุความ 10 ปี
- เรื่อง แอบติดกล้องถ่ายใต้กระโปรง มีความผิดฐานใหน
- เรื่อง ปลอมตัวเป็นตำรวจ
- เรื่อง ปืน
- เรื่อง ใบอนุญาตขับขี่ กับ พ.ร.บ.จราจร
- เรื่อง หลอกเอาโฉนดแล้วไปโอนให้กับบุคคลอื่น
คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ (แพ่ง)
- เรื่อง รถยนต์หายในห้างสรรพสินค้า
- เรื่อง ผู้รับเหมาก่อสร้างง ผิดสัญญาจ้างทำของ
- เรื่อง สัญญาเช่าบ้าน เงินมัดจำต้องคืนหรือไม่
- เรื่อง อุบัติเหตุทางรถยนต์ จอดรถไม่ให้สัญญานเตือนภัย ต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด
- เรื่อง นิติบุคคลอาคารชุด
- เรื่อง กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มถือเป็นการลงลายมือชื่อแล้ว
- เรื่อง มรดก
- เรื่อง ที่ดิน
- เรื่อง ไม่มีกำหนดอายุความฟ้องคดี ในการติดตามเอาทรัพย์ที่ถูกลักไปหรือยักยอกไปคืน
- เรื่อง นิติบุคคลอาคารชุด
-
เรื่อง บังคับคดี
กฎหมายแก้ไขใหม่
1. เรื่อง ขายฝากที่ดินอย่างไร (ผู้ขาย) ไม่เสียเปรียบ
กฎหมายขายฝากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเมื่อปี 2562 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญา เพื่อไม่ให้เอาเปรียบซึ่งกันและกันครับ เหตุที่มีการแก้กฎหมายเพราะมีข้อพิพาทขึ้นสู้ศาลเยอะซึ่งศาลก็จะพิจารณาและพิพากษาตามตัวบทกฎหมาย แต่เมื่อเห็นว่าเป็นปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สส.ก็จะนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเข้าสู้สภาผู้แทน ผ่านกระบวนการต่างจนมีการแก้ไขเป็น พรบ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรหรือที่อยู่อาศัย พศ.2562 สรุปได้ใจความตามนี้
* สัญญาขายฝากต้องมีระยะเวลาไถ่ถอน 1-10 ปี
* ผู้ขายฝากสามารถใช้ประโยชน์หรืออยู่ได้ถึงวันสิ้นสุดการไถ่
* การขยายเวลาไถ่ถอนต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย
* หากผู้ซื้อฝากงอแงไม่ยอมให้ไถ่ถอน ให้ผู้ขายฝากเอาเงินไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์หรือสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ
* ขยายเวลาไถ่ถอนอัตโนมัติ ถ้าผู้ซื้อฝากไม่ส่งหนังสือแจ้งเป็นไปรษณีย์ตอบรับถึงการไถ่ถอนก่อนวันสิ้นสุดการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่ต้องไม่เกิน 6 เดือน
* ไถ่ถอนหรือวางเงินแล้วให้ถือว่ากรรมสิทธิ์โอนกลับมาเป็นของผู้ขายฝากทันที ต้องไถ่ถอนภายในกำหนดระยะเวลาเท่านั้น
* ไถ่ถอนเกินเวลาแต่อยู่ภายใน 6 เดือน ให้ผู้ขายฝากรับรองว่าผู้ซื้อฝากมิได้ทำหนังสือแจ้งผู้ขายฝากเรื่องวันครบกำหนดมาจดทะเบียนไถ่ถอนด้วย
ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445 ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้ www.สู้คดี.com
***************************************
2. เรื่อง ดอกเบี้ย
ดอกเบี้ยร้อยละ 5 มีผลให้กับผู้กู้เงินทุกคนที่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 ของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ได้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี
คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ (อาญา)
1. เรื่อง ลักกระแสไฟฟ้า มีอายุความ 10 ปี
การลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี (ที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2501)
2. การที่จำเลยแอบติดตั้งกล้องบันทึกภาพไว้ที่ใต้โต๊ะทำงานของโจทก์ร่วม และบันทึกภาพสรีระร่างกายของโจทก์ร่วมตั้งแต่ช่วงลิ้นปี่จนถึงอวัยวะช่วงขามองเห็นกระโปรงที่โจทก์ร่วมสวมใส่ ขาท่อนล่างและขาท่อนบนของโจทก์ร่วม โดยที่กล้องบันทึกภาพมีแสงไฟสำหรับเพิ่มความสว่างเพื่อให้มองเห็นภาพบริเวณใต้กระโปรงของโจทก์ร่วมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การกระทำของจำเลยส่อแสดงให้เห็นถึงความใคร่และกามารมณ์ โดยที่โจทก์ร่วมมิได้รู้เห็นหรือยินยอม อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แม้จำเลยจะมิได้สัมผัสต่อเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ร่วมโดยตรง แต่การที่จำเลยใช้กล้องบันทึกภาพใต้กระโปรงโจทก์ร่วมในระยะใกล้ชิด โดยโจทก์ร่วมไม่รู้ตัวย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำโดยประสงค์ต่อผลอันไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 1 (6) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 นอกจากหมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายแล้ว ยังหมายความว่าทำการประทุษร้ายแก่จิตใจด้วย ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าว ทำให้โจทก์ร่วมต้องรู้สึกสะเทือนใจอับอายขายหน้า จึงถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่จิตใจของโจทก์ร่วมแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอนาจารโจทก์ร่วม ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278
ห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุ เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลเนินสง่า อันเป็นสถานที่ราชการซึ่งเป็นสาธารณสถาน แม้ประชาชนที่ไปใช้บริการในห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุจะต้องได้รับอนุญาต และผ่านการคัดกรองจากพยาบาลหน้าห้องตรวจก่อน แต่ก็เป็นเพียงระเบียบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการใช้บริการของโรงพยาบาลเท่านั้น หาทำให้ห้องตรวจคนไข้ดังกล่าวซึ่งเป็นสาธารณสถานที่ประชาชนมีความชอบธรรมจะเข้าไปได้ ต้องกลับกลายเป็นที่รโหฐานแต่อย่างใดไม่ ห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุจึงยังคงเป็นสาธารณสถาน ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแก หรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถานตาม ป.อ. มาตรา 397
มีคดีที่ศาลใหน ปรึกษาทนายใกล้ศาล 089 227 1177 เวปไซต์ www.ทนายใกล้ศาล.com
***************************************************
3. เรื่อง ปลอมหรือหลอกว่าเป็นตำรวจ
“คนมีสี ดูยังไงก็เท่ห์” ความคิดแบบนี้ได้ครอบงำบางท่านจนนำไปสู่การแอบอ้างแสดงตนว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับทั้งนี้ จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2099/2527 เคยตัดสินว่า จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่แต่งกายดังที่เจ้าพนักงานตำรวจนอกเครื่องแบบแต่งกันตามปกติ โดยนุ่งกางเกงสีกากี สวมเสื้อคอกลมขาว คาดเข็มขัดหนัง ยืนให้สัญญาณรถยนต์บรรทุกที่ผ่านไปมาให้หยุดรถ เพื่อตรวจตรงจุดที่รถยนต์ตำรวจทางหลวงจอดอยู่เป็นประจำ อันทำให้บุคคลทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ในการเรียกตรวจรถแต่ละครั้งจำเลยแสดงให้เป็นที่เข้าใจได้ว่า ได้รับเงินจากพวกคนขับรถยนต์บรรทุกพฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยแสดงตน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวง จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145
ขอบคุณข้อมูลจากเพจรู้หมดกฎหมาย มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445
****************************************
4. เรื่อง ปืน
ฎีกาเรื่อง ปืนผู้เสียหายเป็นหลานสะใภ้ของจำเลย ตอนเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน ผู้เสียหายยืนจับรถจักรยานเพื่อจะขี่ไปธุระ ได้เกิดทะเลาะโต้เถียงกับจำเลย แล้วปืนลูกซองยาวที่จำเลยถือลงมาจากบ้านได้ลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนปืนถูกโคนต้นมะม่วงขวามือด้านหลังผู้เสียหาย ได้ความว่า ขณะนั้นจำเลยกับผู้เสียหายอยู่ห่างกันประมาณ 5 วา แม้ผู้เสียหายจะอ้างว่าจำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็รับว่าขณะยิง จำเลยถือปืนด้วยมือทั้งสองข้างในลักษณะอยู่ข้างตัวระดับเอว มิได้ประทับเล็งยิงผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยยิงผู้เสียหายในระยะใกล้ด้วยปืนลูกซองยาว เช่นนี้หากจำเลยตั้งใจจะยิงก็ไม่น่าจะผิดพลาดปรากฏด้วยว่าจำเลยชอบใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้อื่นเสมอ พฤติการณ์แห่งคดีจึงยังไม่แน่ใจว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายดังโจทก์ฟ้อง สมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย.(ที่มา-ส่งเสริม)
มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445 ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้ www.ทนายใกล้คุณ.com
*********************************************
5. เรื่อง ใบอนุญาตขับขี่ กับ พ.ร.บ.จราจร
เรื่อง ใบอนุญาตขับขี่ กับ พ.ร.บ.จราจรกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 140, 141, 161 ทวิ กำหนดให้เจ้าพนักงานจราจรใช้ดุลพินิจเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว และให้ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ที่ออกให้ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน หรือใบรับการส่งธนาณัติ หรือใบรับการส่งตั๋วแลกเงิน ประกอบกับใบสั่งเป็นใบแทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นเวลาสิบวันนับแต่วันที่ส่งธนาณัติหรือตั๋วแลกเงิน มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 รีบไปชำระค่าปรับตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจรโดยเร็ว เพื่อจะได้รับใบอนุญาตขับขี่คืนจากพนักงานสอบสวนทันที อันจะทำให้สามารถขับขี่รถต่อไปได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเจ้าพนักงานจราจรผู้ออกใบสั่งมิได้รับมอบอำนาจจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ผู้บังคับการตำรวจจราจร ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่ที่ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ครั้งละไม่เกินหกสิบวัน และผู้ขับขี่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 161 จึงไม่มีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่ตามบทบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจแปลความคำว่า "เรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว" ตามมาตรา 140 วรรคสาม ว่า เป็นการยึดใบอนุญาตขับขี่ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถขับขี่รถในระหว่างที่เจ้าพนักงานจราจรเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว และพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานจราจรออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่แล้ว จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 152
ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445 ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้ www.สู้คดี.com
*************************************
6. หลอกเอาโฉนดแล้วไปโอนให้กับบุคคลอื่น
ฉ้อโกงหลอกให้ส่งมอบโฉนดแล้วเอาไปโอนให้กับบุคคลอื่นลำดับที่ 211 ฎีกาที่ 2062/2558ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ
คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ (แพ่ง)
1. เรื่องรถยนต์หายในห้างสรรพสินค้า ห้างสรรพสินค้าต้องรับผิดชอบ
จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ หรือไม่ แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยยังต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวรจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯ ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย
มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ โทร. 089 226 8899 เวปไซต์ www.ทนายใกล้คุณ.com
**************************************************
2. เรื่องผู้รับเหมา ผิดสัญญาจ้างทำของ
โจทก์กล่าวในคำฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยอันเป็นการผิดสัญญาจ้างทำของ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหลายรายการ แต่โจทก์คิดเพียง400,000 บาท โดยแนบภาพถ่ายทาวน์เฮาส์ เครื่องโม่ปูนวัสดุก่อสร้างที่เหลือ บ้านพักคนงาน รวมทั้งสิ่งก่อสร้างตามโครงการก่อสร้างของจำเลยที่ถนนเทพารักษ์มาท้ายฟ้องด้วยแม้มิได้บรรยายว่าโจทก์เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใด ทำงานเสร็จไปถึงงวดที่เท่าใดวัสดุก่อสร้างที่เหลืออยู่ จำนวนและราคาเท่าใดและการว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างที่เทพารักษ์ มีหลักฐานอย่างใด ก็ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา ไม่จำต้องกล่าวในฟ้องทั้งเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ จำเลยต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้วคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม กรณีเพิ่งเริ่มงานตามสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทำการก่อสร้าง เหตุบอกเลิกสัญญา ก็อ้างเหตุโจทก์ทิ้งงานเท่านั้น ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ และโจทก์เองมิได้ทอดทิ้งงาน ส่วนเรื่องโจทก์ก่อสร้างผิดแบบผิดหลักวิชาการก็รับฟังไม่ได้ ดังนี้เมื่อ สัญญาจ้างยังไม่ถึงกำหนด และจำเลยผู้ว่าจ้างเห็นว่าหากให้ โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไปจะเกิดความเสียหายเพราะงานล่าช้างานจำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387แต่จำเลยก็มิได้ทำเช่นนั้น จึงบอกเลิกสัญญาโดยเหตุดังกล่าวไม่ได้ การที่โจทก์ขอทำการก่อสร้างต่อไปและจำเลยไม่ยอมโดยว่าจ้างผู้อื่นก่อสร้างต่อไปและให้เลิกสัญญา จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้ แต่เป็นเรื่องจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง กรณีจ้างทำของเมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาเองโดยโจทก์ผู้รับจ้างไม่ได้ทำผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 605 ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยต้องรื้อถอนซ่อมแซมและเสียค่าก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การและฟ้องแย้ง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งแล้ว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องโดยมิได้พิพากษายกฟ้องแย้งด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสีย ให้ถูกต้อง
อยู่กรุงเทพ ปรึกษาทนายกรุงเทพ โทร. 02 114 7521 เวปไซต์ www.ทนายกรุงเทพ.com
***************************************************
3. เรื่องสัญญาเช่าบ้าน เงินมัดจำต้องคืนหรือไม่
เงินประกันการเช่าตามสัญญาเช่าได้กำหนดให้โจทก์ผู้ให้เช่ามีสิทธินำค่าเช่าที่ค้างชำระหรือหนี้สินอื่นที่ค้างชำระมาหักเงินประกันค่าเช่าได้เมื่อจำเลยผู้เช่าขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสถานที่เช่าเรียบร้อยแล้ว และให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันค่าเช่าได้ทั้งจำนวนในกรณีจำเลยมิได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งแสดงว่าเงินประกันค่าเช่าเป็นเงินประกันความเสียหายเกี่ยวกับเรื่องหนี้ค่าเช่าค้างชำระ หนี้สินอื่นค้างชำระและเป็นเงินประกันความเสียหายการผิดสัญญาเช่าอีกด้วย เงินประกันการเช่าดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับเพราะจำเลยสัญญาแก่โจทก์ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อจำเลยผิดนัดโดยจำเลยมิได้บอกเลิกสัญญาเช่าล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลา 3 เดือน เงินประกันการเช่านี้จึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ.มาตรา 379, 381 โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินประกันการเช่าได้
สำหรับเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่าได้ระบุไว้ว่าหากจำเลยเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดอายุสัญญา จำเลยจะต้องชำระค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดมีมูลค่าเท่ากับค่าเช่า 4 เดือนเพิ่มขึ้นอีกต่างหากนั้น เป็นเรื่องจำเลยได้สัญญาจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดจึงเป็นเบี้ยปรับตกอยู่ในบังคับมาตรา 379,381 โจทก์จึงมีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดได้เช่นกัน
เงินประกันการเช่าและเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดดังกล่าวต่างก็เป็นเบี้ยปรับในกรณีที่จำเลยชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควรแม้ตามสัญญาเช่าจะระบุเรียกชื่อของเงินทั้งสองกรณีที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาได้นั้นต่างกันโดยอาศัยเหตุการริบหรือเรียกเอาได้ต่างกัน แต่เหตุสำคัญที่เป็นเหตุเริ่มต้นให้โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาได้นั้นจะต้องเกิดจากการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด ในกรณีที่จำเลยบอกเลิกการเช่าโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิริบเงินประกันการเช่าได้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิริบเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า ถือได้ว่าเงินประกันการเช่าเป็นเบี้ยปรับที่ซ้ำซ้อนกับเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด เพราะเบี้ยปรับทั้งสองกรณีต่างก็เป็นเงินประกันค่าเสียหายล่วงหน้าเมื่อผิดสัญญาเช่าเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรทั้งสิ้น ดังนั้น เบี้ยปรับที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาดังกล่าวนั้นเมื่อได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับความเสียหายที่จำเลยยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน มีเหตุลดเบี้ยปรับลงตามจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 คงให้ปรับเฉพาะเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดกรณีเดียว
ค่าเสียหายในเชิงธุรกิจที่โจทก์เรียกร้องคือค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าตกแต่งอาคารชั้นล่างเพื่อให้จำเลยทำสำนักงานชั่วคราว และค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่บริษัท ป. อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ต้องให้จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นที่ 7 นั้น ล้วนแต่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้ใช้จ่ายหรือจะต้องเสียไปก่อนที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลย เมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลยโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดค่าเสียหายเหล่านี้ไว้ในสัญญาเช่าในลักษณะเป็นมัดจำหรือเบี้ยปรับหรือกำหนดอัตราค่าเช่าให้สูงขึ้นได้ตามแต่โจทก์จะกำหนดให้จำเลยผู้เช่ารับผิด กรณีเช่นนี้จึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแก่การไม่ชำระหนี้ หรือเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 222 เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกในกรณีจำเลยผิดสัญญาเช่าตามมาตรา 222 ดังกล่าวจะต้องเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยผิดสัญญาเช่าแล้ว และโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่านั้นด้วย ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้จากดอกเบี้ยของเงินมัดจำที่จำเลยต้องวางไว้ต่อโจทก์จำนวนเงิน 8,500,000 บาท ตามสัญญาเช่านั้น มาตรา 378 ได้บัญญัติความรับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งบทบัญญัติมาตรานี้มิได้บัญญัติให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินมัดจำที่จำเลยจะต้องวางต่อโจทก์ด้วยจึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 222 มาบังคับเพื่อให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์อีก
แม้เงินจำนวน 1,700,000 บาท จะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของการเช่าอาคาร และในสัญญาเช่าจะได้ระบุว่าเป็นมัดจำ แต่ก็ไม่ถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นมัดจำตามความหมายที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 377 เพราะมิใช่เงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์เพื่อเข้าทำสัญญาเช่าเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งในสัญญาเช่าเท่านั้น กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับมัดจำมาใช้บังคับได้ จะต้องถือปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าระบุไว้เมื่อตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีข้อใดระบุให้โจทก์ริบเงินส่วนนี้ของจำเลยไว้ แต่ได้ระบุไว้ว่า ผู้ให้เช่าจะคืนเงินมัดจำดังกล่าวให้แก่ผู้เช่าทันทีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินค่าเช่าโทรศัพท์ครบถ้วนแล้ว หลังจากสัญญานี้สิ้นสุดลงด้วยเหตุใดก็ตาม อีกทั้งให้นำหลักการเรื่องเงินประกันค่าเช่ามาใช้โดยอนุโลมด้วย ดังนั้น แม้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ก็จะต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย โจทก์คงมีสิทธินำเงินค่าบำรุงการใช้โทรศัพท์มาหักออกจากเงินมัดจำดังกล่าวได้ และจะต้องคืนเงินที่เหลือให้จำเลย
มีคดีที่ศาลใหน ปรึกษาทนายใกล้ศาล 089 227 1177 เวปไซต์ www.ทนายใกล้ศาล.com
***************************************************
4. เรื่องอุบัติเหตุทางรถยนต์ จอดรถไม่ให้สัญญานเตือนภัย ต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจุดที่จำเลยจอดรถและเกิดเหตุชนกันอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนนในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลามืดค่ำโดยไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอดทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลยไม่ว่าจะฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยก็ตามก็ต้องถือว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วยจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4),157 คงผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 78 กำหนดให้ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตามแต่ผู้ขับรถที่จะถือว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่ หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดรถอยู่หรือหยุดรถอยู่ไม่จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78
มีคดีที่มีอัตราโทษสูง ปรึกษาทนายความที่มีประสบการณ์ในคดี โทร. 081 803 4097 เวปไซต์ www.สู้คดี.com
***************************************************
5. เรื่องคดีนิติบุคคลอาคารชุด
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกอายุความสิทธิเรียกร้องมาบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะส่วนที่ไม่ขาดอายุความ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชำระหนี้อันเกิดจากหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระเพียงหนี้ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถือเป็นการกล่าวชัดแจ้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด
ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ
โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
มีคดีที่มีอัตราโทษสูง
ปรึกษาทนายความที่มีประสบการณ์ในคดี โทร. 081 803 4097 เวปไซต์ www.สู้คดี.com
**************************************************
6. เรื่อง กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มถือเป็นการลงลายมือชื่อแล้ว
การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดงจึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ โทร. 089 226 8899 เวปไซต์ www.ทนายใกล้คุณ.com
**************************************************
7. เรื่อง มรดก
คดีมรดกเรื่อง อะไรคือทรัพย อะไรคือมรดกทรัพย์สิน เงิน ทอง เป็นของนอกกายก็จริง ในระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่ เราเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น เราก็มีสิทธิที่จะใช้ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ให้กับใครๆก็ได้ แต่ถ้าก่อนตาย ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์นั้นก็ตกเป็นของผู้รับพินัยกรรมครับ แต่ถ้าไม่ทำพินัยกรรม เมื่อตายไปแล้ว ทรัพย์ถึงจะตกเป็นของทายาท ศาลได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สิน สัญญา ข้อตกลงกันไว้ดังนี้ครับ
ฉ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของ ช. กึ่งหนึ่ง และเป็นทรัพย์มรดกของฉ. กึ่งหนึ่งการที่ ฉ. ฝากเงินประจำไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 2 เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนเมื่อถึงกำหนดแก่ ฉ.ฉ. มีเจตนาเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ถือได้ว่า ฉ. มีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของฉ. ที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โดย ฉ. ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของ ฉ. ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นอันสมบูรณ์สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทน ฉ. เท่านั้น
มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445
ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้ www.ทนายใกล้คุณ.com
***************************
8. เรื่อง คดีที่ดิน
คดีที่ดินเรื่อง ที่ดินงอก ครอบครองปรปักษ์เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ 4 ถึง 5 ปี มานี้ ดังนั้นก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกที่เชื่อมติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่งอกพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองยังไม่ถึง 10 ปี โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382
ปรึกษาทนายใกล้คุณ โทร. 089 226 8899 เวปไซต์ www.ทนายใกล้คุณ.com
**************************************************
9. เรื่อง ไม่มีกำหนดอายุความฟ้องคดี ในการติดตามเอาทรัพย์ที่ถูกลักไปหรือยักยอกไปคืน
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับเงินค่าเช่าซื้อรถจากลูกหนี้ของโจทก์ จำเลยที่ 1 รับเงินตาม หน้าที่แล้วไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นทั้งละเมิดและปฏิบัติผิดหน้าที่ตัวแทนตาม สัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในการละเมิดหรือติดตาม เอาทรัพย์ของโจทก์ที่จำเลยเอาไปได้ การฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงิน จึงเป็นการใช้ สิทธิติดตาม เอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 ซึ่ง ไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้ สิทธิเช่นนี้เว้นแต่จะถูก จำกัดด้วย อายุความได้ สิทธิ ดังนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้ แม้จะเกิน 1 ปี จำเลยที่ 2ค้ำประกันจำเลยที่ 1 มูลหนี้ของจำเลยที่ 2 ก็เกิดจากสัญญา หาได้เกิดจากมูลละเมิดอันจะมีอายุความ 1 ปีไม่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.
มีคดีที่มีอัตราโทษสูง ปรึกษาทนายความที่มีประสบการณ์ในคดี โทร. 081 803 4097 เวปไซต์ www.สู้คดี.com
**************************************************
10. เรื่อง นิติบุคคลอาคารชุด
หมู่บ้านจัดสรรของจำเลยได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย แสดงว่ามีการจัดทำแผนผังโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินหรือประโยชน์เกี่ยวกับสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การคมนาคม การจราจร ความปลอดภัย การสาธารณูปโภค และการผังเมือง มีหลักเกณฑ์และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการและได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 แล้ว สิ่งก่อสร้าง ถนน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินดังกล่าวนี้ ย่อมถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน บุคคลใดจะทำให้เสื่อมค่าทำให้ขาดประโยชน์ หรือผิดแผกไปจากที่ได้รับอนุญาตแล้วมิได้โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินจัดสรรโฉนดเลขที่ 6516 พร้อมบ้านจากโครงการของจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 911 จากผู้มีชื่อ อันเป็นที่ดินนอกโครงการจัดสรรและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่มีอาณาเขตด้านหนึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 6516 โจทก์ประสงค์จะรื้อรั้วด้านที่ติดกันออก แล้วกั้นรั้วใหม่ให้เป็นผืนเดียวกันและถมที่ดินให้มีระดับเสมอกัน แต่จำเลยห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองรื้อรั้วและใช้ทางเพื่อประโยชน์ของที่ดินโฉนดเลขที่ 911 เห็นว่า รั้วและทางเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรจัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ผู้ใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือก่อให้เพิ่มภาระผูกพันโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิรื้อรั้วและใช้ถนนในหมู่บ้านเพื่อประโยชน์ของที่ดินโจทก์ทั้งสองที่อยู่นอกหมู่บ้านจัดสรรได้
ปรึกษาทนายกรุงเทพ โทร. 02 114 7521 เวปไซต์ www.ทนายกรุงเทพ.com
***************************************
11. เรื่อง บังคับคดี
ในขณะที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่โจทก์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัด กรณีต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสอง จำเลย และผู้ถือกรรมสิทธ์รวมคนอื่นได้ร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาททุกส่วนทั้งแปลง แม้ภายหลังผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจะได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดแล้วตาม ก็เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันเอง โดยโจทก์มิได้ตกลงด้วยจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก การจำนองที่ดินพิพาทจึงยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิขอกันที่ดินเฉพาะส่วนของตนออกจากที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาด
มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ โทร. 099 464 4445
เวปไซต์ www.ทนายใกล้คุณ
**********************************